ข้อมูลพื้นที่ศึกษา จังหวัดปทุมธานี

สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ

ทีมผู้วิจัยได้เลือกพื้นที่ศึกษาระดับตำบลในจังหวัดปทุมธานี ที่มีการเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าวและข้าวโพด ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม (ERTC) ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่อยู่ในเขตรอยต่อระหว่างชนบทและเขตเมือง ซึ่งมีความเหมาะสมในการศึกษาอิทธิพลจากการเผาวัสดุทางการเกษตรที่มีผลต่อคุณภาพอากาศ ปัจจุบัน สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของจังหวัดปทุมธานี ที่ดำเนินการตรวจวัดโดยใช้เครื่องมือมาตรฐานที่มีการดำเนินการตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง มีอยู่ 2 แห่ง คือ บริเวณมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวงดำเนินการตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษ และ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ต.คลองห้า อ.คลองหลวง สำหรับสถานีใหม่ที่กำลังดำเนินการติดตั้งมีอยู่ 1 สถานี คือ สถานีตรวจวัดในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พื้นที่เกษตรกรรมและจำนวนจุดความร้อน

การศึกษาเบื้องต้นมีการข้อมูลจากดาวเทียม MODIS-TERRA, MODIS-AQUA, VIIRS-NOAA และ VIIRS-SUOMI เพื่อศึกษาจุดความร้อน โดยดาวเทียมที่มีการติดตั้งเซนซอร์ MODIS จะมีแถบการถ่ายภาพที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยและสามารถถ่ายภาพได้วันละ 4 ช่วงเวลาได้แก่ดาวเทียม TERRA (เวลา 01.00-02.00 และ 10.00-11.00 น.) และ ดาวเทียม AQUA (เวลา 13.00-14.00 และ 22.00-23.00 น.) สำหรับดาวเทียมที่ติดตั้งเซนเซอร์ VIIRS จะมีช่วงเวลาที่ถ่ายภาพครอบคุลมประเทศไทยใน 4 ช่วงเวลาได้แก่ SUOMI (เวลา 01.00-03.00 น. และ 13.00-15.00 น.) และ NOAA (เวลา 00.00-03.00 น. และ 12.00-14.00 น.) ร่วมกับพื้นที่เพาะปลูกพืชทางการเกษตรของ GISTDA

1. พื้นที่จุดความร้อนบนพื้นที่การเพาะปลูกข้าว จากการศึกษาเบื้องต้นจากจุดความร้อนระหว่างปี 2562 ถึงปี 2564 (ณ วันที่ 4 มิ.ย. 2564) พบว่า พื้นที่การเกิดความร้อนทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูกข้าวในจังหวัดปทุมธานีประมาณ 131.63 ตารางกิโลเมตร ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.64 ของพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัดปทุมธานี สำหรับพื้นที่เกิดความร้อนสูงสุดที่ปี 2563 ประมาณ 16.88 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,555 ไร่ จากการประมาณการข้อมูลการเซนเซอร์ VIIRS จากข้อมูลจุดความร้อน จะเห็นได้ว่าจุดความร้อนบนพื้นที่การเกษตรจะสำรวจได้ในทุกอำเภอ ซึ่งจะมีจำนวนมากใน อ.ลำลูกกา และ อ.หนองเสือ

2. พื้นที่จุดความร้อนบนพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพด สำหรับพื้นที่จุดความร้อนที่เกี่ยวข้องกับกับพื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดมีประมาณ 0.14 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 87.5 ไร่ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2563 ที่ ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ