รายละเอียดโครงการวิจัย

ชื่อโครงการ

การพัฒนาระบบการคาดการณ์ศักยภาพการรองรับปริมาณการระบาย PM2.5 ของพื้นที่สำหรับสนับสนุนการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งของภาคการเกษตรกรรมในระดับท้องถิ่น

Development of PM2.5 assimilative capacity forecasting system for effectively reducing PM2.5 emission from open burning activities at local administrative levels in Thailand

หลักการและเหตุผล

การเผาในที่โล่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 25-40 ในปี 2562 คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง เป็นวาระแห่งชาติ และมีการกำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562 ซึ่งในมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ตามแนวทางการดำเนินการที่ 3.2 ในการทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย มาตรฐานแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ในมาตรการที่ 3.2.4 มีการเสนอให้มีการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดระเบียบการเผาภาคการเกษตร โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลัก โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่ในประเทศไทยในการรองรับการระบาย PM2.5 สำหรับสนับสนุนการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตรระดับท้องถิ่น เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ คือ การคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับปริมาณการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแหล่งกำเนิดการเผาในที่โล่งของภาคเกษตรกรรม ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ในการคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่เพื่อรองรับการระบาย PM2.5 ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ล่วงหน้า

ในการพัฒนาระบบคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่และระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการอนุญาตให้มีการดำเนินการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยวิธีการเผาในที่โล่งระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างศักยภาพของท้องถิ่นสำหรับการมีส่วนร่วมในการจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงที่มีวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เป้าหมายของโครงการคือการพัฒนาระบบการจัดการเศษวัสดุทางเกษตรด้วยวิธีการเผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายของการจัดการวัสดุทางเกษตรในระดับท้องถิ่น โดยผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ คือ การสามารถบอกถึงวันที่ พื้นที่ และปริมาณเศษวัสดุทางการเกษตรที่สามารถอนุญาตให้มีการดำเนินการเผาได้ล่วงหน้าได้ รวมถึงมการีระบบทและกลไกี่สามารถอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการและติดตามการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถลดวันที่มีระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลงได้อย่างมีประสิทธิผล

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1) เพื่อศึกษาและประเมินความเป็นไปได้ในการคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่เพื่อรองรับการระบาย PM2.5 จากการเผาเศษวัสดุทางเกษตรในที่โล่ง

2) เพื่อพัฒนาระบบคาดการณ์ศักยภาพการรองรับปริมาณ PM2.5 ของพื้นที่และระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรด้วยวิธีการเผาในที่โล่ง

3) เพื่อสร้างศักยภาพของท้องถิ่นในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการและควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงที่มีวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน

กรอบแนวคิดและขอบเขตการดำเนินการ

โครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีของระบบแบบจำลองทางคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการประเมินและคาดการณ์ศักยภาพของพื้นที่ในการรองรับการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ล่วงหน้า โดยออกแบบระบบการสนับสนุนการตัดสินใจและการอนุญาตของท้องถิ่นตัวอย่าง ที่จะมีการเลือกให้มีการดำเนินการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรประเภทข้าวและข้าวโพด ด้วยวิธีการเผาในที่โล่งซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายในการจัดการเศษวัสดุการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่ที่มีการดำเนินการจัดการเศษวัสดุทางเกษตร เพื่อลดปริมาณการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากการเผาในที่โล่ง ในช่วงที่สภาพอากาศปิดและไม่เอื้อต่อการแพร่กระจายของสารมลพิษอากาศ โครงการนี้จะส่งเสริมศักยภาพท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาสถานการณ์และลดจำนวนวันที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ลง อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น โดยกรอบการวิจัยสามารถแสดงได้ดังรูป

จุดเด่นของโครงการ

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) ร่วมกับระบบแบบจำลองทางคณิตศาสตร์อย่างง่าย WRF-Box ในการคาดการณ์ศักยภาพการรองรับปริมาณการระบาย PM2.5 ของพื้นที่ รวมถึงการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขั้นสูง WRF-Chem ในการจำลองและคาดการณ์ระดับความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศ เพื่อเป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในการนำไปใช้ในการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรโดยวิธีการเผาซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายในการบริหารจัดการเศษวัสดุการเกษตร ที่มีระบบและกลไกไม่ซับซ้อนต่อการใช้งานระดับท้องถิ่น